การตัดเย็บจีวร

การตัดเย็บจีวร

ไตรจีวรวิธีตัดจีวร

ในพระธรรมวินัยกล่าวถึงขนาดของจีวร มีห้ามแต่ไม่ให้ทำเกินกว่าสุคตประมาณที่กำหนดไว้ในสิกขาบทที่ ๑๐ แห่งรตนวรรค คือ ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ โดยคืบพระสุคต* ส่วนขนาดย่อมกว่า ก็แล้วแต่พอดีกับบุคคลผู้ครองไม่มีข้อห้าม ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย ยาว ไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๔ ศอกของผู้ครอง พอได้ปริมณฑลดีเมื่อห่ม สำหรับสบง ประมาณที่ใช้ในประเทศไทย ยาวไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๒ ศอก ของผู้ครอง การตัดจีวรที่จะอธิบายต่อไปนี้ จะใช้นิ้วฟุตเป็นมาตราวัด เพราะเห็นว่า ไม้บรรทัดใช้กันอยู่โดยทั่วไปหาได้ง่าย ขนาดและตัวอ่างนี้มิใช่เป็นแบบที่ตายตัวทีเดียว ให้ขยายตามขนาดของบุคคลเพียงแต่วางหลักกว้างๆไว้เท่านั้น (* คืบพระสุคต = เดิม คงกำหนดด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในปัจจุบันให้ถือตามมาตราวัดเป็นเมตร คือ ๑ คืบพระสุคต เท่ากับ ๒๕ เซนติเมตร) เวลาจะตัดกะดังนี้

แบบที่ 1 แบบที่ 2
แบบที่ 3 แบบที่ 4
  • จีวรพึงกะให้ได้ขนาด คือ กว้าง ๔ ศอก ยาว ๖ ศอก ของผู้ครอง และอนุวาตกว้าง ๕ นิ้ว กุสิกว้าง ๒ นิ้วครึ่ง ตัดเป็นจีวร ๕ ขัณฑ์
  • เบื้องต้น ให้วัดศอกของผู้ที่ครองก่อน ว่ายาวกี่นิ้ว เมื่อวัดได้เท่าไหร่แล้ว ให้เอา ๖ ศอก คือความยาวของจีวรคูณ เมื่อคูณได้เท่าไรแล้ว ให้คิดเป็นเนื้อที่ของกุสิเสีย ๔ กุสิๆ หนึ่ง กว้าง ๒ นิ้วครึ่ง๔ กุสิ ก็เท่ากับ ๑๐ นิ้ว อนุวาต ๒ ข้างๆละ ๕ นิ้ว ๒ ข้างเป็น ๑๐ นิ้ว เมื่อรวมกับกุสิ ๔ กุสิ จึงเป็นเนื้อที่ ๒๐ นิ้วพอดี
  • ให้เอา ๒๐ นิ้วไปลบความยาวทั้งหมดของจีวร เมื่อลบแล้วคงเหลือเท่าไรให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร เมื่อได้ผลลัพธ์เท่าไรแล้วให้เอาอนุวาต ๕ นิ้วมาบวกๆ ได้เท่าไร ก็เป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวริมทั้ง ๒ ข้าง ขัณฑ์ตัวกลางมีกุสิอยู่ทั้ง ๒ ข้าง รวม ๕ นิ้ว ก็เอา ๕ บวกจำนวน ๕ ขัณฑ์ที่หารได้ จัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวกลาง

ขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว คือตัวที่ติดกับตัวกลางทั้ง ๒ ข้าง มีกุสิตัวละ ๒ นิ้วครึ่ง ๒ ขัณฑ์ จึงเป็น ๕ นิ้ว ให้เอา ๒ นิ้วครึ่งไปบวกกับที่ ๕ ขัณฑ์ หารได้ตอนต้น จึงจัดเป็นความกว้างของขัณฑ์ตัวรอง ๒ ตัว เมื่อได้ตัดเป็นขัณฑ์ๆ ได้ ๕ ขัณฑ์ ดังกล่าวแล้ว ต่อแต่นั้นก็ให้พับขัณฑ์ (คือผ้าที่ตัดไว้ทั้ง ๕ ชิ้น) ทั้ง ๕ ขัณฑ์นั้น เป็น ๓ ส่วน ให้ตัดอัฑฒกุสิในส่วนกลาง แล้วจึงตัดกุสิทีหลัง ตอนตัดกุสิอย่าตัดทางกุสิก่อน ให้ตัดทางอัฑฒกุสิเสียก่อน เพราะถ้าตัดทางกุสิก่อนก็จะเสียใช้ไม่ได้ เวลาจะเอาขัณฑ์ทั้ง ๕ มาเย็บติดกันระวังอย่าให้ผิด เราควรจำให้ได้ว่า ทั้งหมดมีอยู่ ๕ ขัณฑ์ด้วยกันคือ

การตัดเย็บจีวร การตัดเย็บจีวร
  • ขัณฑ์กลางมีกุสิติดอยู่ ๒ ข้าง และอัฑฒกุสิ
  • ขัณฑ์รอง คือขัณฑ์ที่ติดกับขัณฑ์กลางมีอยู่ ๒ ขัณฑ์ มีกุสิ และอัฑฒกุสิติดอยู่ข้างเดียว
  • ขัณฑ์ริม ๒ ข้าง ไม่กุสิ มีแต่อัฑฒกุสิ (คำว่า กุสิ แปลว่ากระทงใหญ่ อัฑฒกุสิ แปลว่า กระทงเล็ก หรือกระทงกึ่ง) เมื่อเย็บติดกันทุกชิ้นแล้ว จึงให้ตัดอนุวาตกว้าง ๕ นิ้ว มาเย็บติดกันที่ริมโดยรอบ เวลาเย็บอนุวาตอย่าให้ติดทางด้านตะเข็บ ให้ติดทางด้านนอกของตะเข็บ เมื่อกล่าวโดยย่อแล้วได้ใจความว่า เบื้องต้น ให้ตัดผ้าออกเป็น ๕ ชิ้น คือตัวกลาง ๑ กับตัวริมสุด ๒ ข้าง รวม ๓ ชิ้น ให้ตัดเท่ากัน ตัวรองคือตัวติดกับตัวกลาง ๒ ตัวให้ตัดเท่ากัน แล้วจึงให้ตัดกุสิและอัฑฒกุสิในภายหลัง ดังที่อธิบายมานี้ จะสมมติวิธีตัดให้ดู ดังนี้

สมมติ ว่าผู้ที่จะครอง มีศอกยาววัดได้ ๑๗ นิ้วครึ่ง (ให้ใช้นิ้วฟุต) ให้ตั้ง ๑๗ นิ้วครึ่งลง แล้วให้เอา ๖ ศอกคูณได้ผลลัพธ์ ๑๐๕ นิ้ว แล้วให้คิดเผื่อตะเข็บอีก ๒ นิ้วครึ่ง เอาไปบวกกับ ๑๐๕ นิ้ว เป็น ๑๐๗ นิ้วครึ่ง คิดเป็นเนื้อที่กุสิและอนุวาตเสีย ๒๐ นิ้ว แล้วเอา ๒๐ ลบ ๑๐๗ นิ้วครึ่ง คงเหลือ ๘๗ นิ้วครึ่ง แล้วให้เอา ๕ ขัณฑ์หาร ๘๗ นิ้วครึ่ง ได้ ผลลัพธ์ ๑๗ นิ้วครึ่ง ตัวกลางมีกุสิ ๒ ข้าง รวมกันได้ ๕ นิ้ว ให้เอา ๕ ไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง จึงได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง เป็นความกว้างของขัณฑ์กลาง ขัณฑ์รอง ๒ ขัณฑ์ ขัณฑ์หนึ่งๆ มีกุสิเดียว ๒ นิ้วครึ่ง ให้เอาไปบวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง ได้ผลลัพธ์ ๒๐ นิ้ว เป็นความกว้างของขัณฑ์รอง ขัณฑ์ริมสุด ๒ ขัณฑ์ มีอนุวาตด้วยขัณฑ์ละ ๕ นิ้ว จึงให้เอา ๕ บวกกับ ๑๗ นิ้วครึ่ง จึงจะได้ ๒๒ นิ้วครึ่ง เป็นความกว้างของ ขัณฑ์ริมตัวหนึ่งๆ เมื่อรวมแล้วได้ใจความดังนี้

  • ขัณฑ์กลาง ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗๐ นิ้ว ๑ ผืน
  • ขัณฑ์รอง ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๐ นิ้ว ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน
  • ขัณฑ์ริมสุด ให้ตัดผ้ากว้าง ๒๒ นิ้วครึ่ง ยาว ๗๐ นิ้ว ๒ ผืน
  • ต่อจากนั้นก็ให้ตัดกุสิ และอัฑฒกุสิจากขัณฑ์นั้นๆ ทั้ง ๕ ขัณฑ์ เวลาจะตัดกุสิ และอัฑฒกุสิ (กระทง) ให้ตัดในขัณฑ์นั้นๆ กว้างขนาด ๒ นิ้วครึ่ง หรือจะใช้กลักไม้ขีดเป็นขนาดก็ได้ ก่อนแต่จะตัดอัฑฒกุสิให้พับเป็น ๓ ส่วน แล้วให้ตัดในส่วนกลางดังกล่าวแล้ว
  • เย็บให้ติดกันเรียบร้อย แล้วจึงติดอนุวาตภายหลัง อนุวาตที่เย็บติดกันนั้น ให้ใช้ผ้ากว้าง ๕ นิ้ว ส่วนยาวเอาจนรอบขอบของจีวร
  • เสร็จแล้วจึงให้ติดรังดุมไว้ขวา ลูกติดไว้ซ้าย จงดูในแบบ
  • เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ถ้าคิดจะหักตอนที่ตะเข็บย่นออกเสียแล้ว ก็คงเป็นจีวรประมาณกว้าง๖๘ นิ้ว ยาว ๑๐๕ นิ้ว

การตัดเย็บสบง จีวร

การตัดสบง

การตัดสบงก็ให้คิดโดยวิธีเดียวกัน เว้นแต่เวลาวัดผ้า จะตัดออกเป็นขัณฑ์ๆ ถ้าสมมติตัดเป็นจีวรขัณฑ์หนึ่งๆ ให้ยาว ๗๐ นิ้ว ถ้าตัดเป็นสบงก็ต้องสมมติขัณฑ์หนึ่งๆ ให้ยาว ๓๕ นิ้ว และไม่ต้องติดดุมและรังดุม นอกนั้นเหมือนกันทั้งหมด สบง เมื่อตัดแล้วคิดหักตอนตะเข็บออกแล้ว ก็คงเป็นสบงกว้าง ๓๔ นิ้ว ยาว ๑๐๕ นิ้ว

อีกวิธีหนึ่ง วิธีการตัดอย่างง่ายๆ ให้วัดเอาขนาดศอกของผู้ที่จะครองนั้นกะดังนี้

  • ขัณฑ์กลาง กับขัณฑ์ริมสุดทั้ง ๒ ข้าง ให้วัดขัณฑ์หนึ่งๆ กว้าง ๑ ศอก ๖ นิ้ว ยาว ๔ ศอก ๓ ขัณฑ์ รวมกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว
  • ขัณฑ์รอง คือต่อจากขัณฑ์กลาง ๒ ข้าง ขัณฑ์หนึ่งๆ กว้าง ๑ ศอก ๓ นิ้ว ยาว ๔ ศอก ๒ ขัณฑ์ รวมกว้าง ๒ ศอก ๖ นิ้ว
  • ต่อจากนั้นก็ให้ตัดกุสิ และอัฑฒกุสิตามแบบครั้งที่ ๒ ดังกล่าวแล้วในจีวรข้างต้น ตัดสบง
  • การตัดก็อย่างเดียวกับจีวร เป็นแต่เวลาตัดขัณฑ์ ให้ลดความยาวของขัณฑ์หนึ่งๆ ลงเป็น ๒ ศอกเท่านั้น

สีที่ทรงอนุญาต

สีที่ทรงอนุญาตให้ย้อมมี ๒ ชนิด คือ สีเหลืองเจือแดงเข้ม ๑ สีเหลืองหม่น เช่น สีแก่นขนุน ที่เรียกว่ากรัก ๑

สีที่ห้ามไม่ให้ย้อม คือ สีคราม สีเหลืองล้วน สีแดงล้วน สีบานเย็น สีชมพู สีดำ อนึ่ง จะใช้สีกรักผสมกับสีแดง สีเหลืองก็ได้ แต่ส่วนผสมนั้นจะยุติเป็นแน่นอนไม่ได้ เพราะแล้วแต่ว่าสีที่ได้มานั้นจะแก่หรืออ่อน ถ้าสีแก่ก็ผสมแต่น้อย สีอ่อนก็ใช้ผสมมาก ข้อสำคัญให้ได้สีดังกล่าว

การเตรียมสีย้อม

การย้อมผ้าจีวรจากเปลือกมังคุด

ขั้นตอนการย้อมผ้าจากเปลือกมังคุด

มังคุดผลไม้แสนอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากอีกชนิดหนึ่ง กำลังออกผลผลิตจนล้นตลาดและราคาก็นับว่าถูกมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่เปลือกมังคุดที่เราแกะรับประทานเนื้อข้างในกันไปแล้วมักจะโยนทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ อันที่จริงนอกจากคุณประโยชน์ทางยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆแล้ว เปลือกมังคุดยังใช้ประโยชน์ในการ ย้อมผ้า ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย สีจากธรรมชาติเท่าที่เรารู้จักกันมาก็มีมากมายหลายชนิด แต่ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็มี เปลือกมังคุด

อุปกรณ์ที่ใช้

เปลือกมังคุดก่อนแกะเนื้อชั่งได้ ๑.๓ กก., ครก, กะละมัง, ผ้าฝ้ายสีขาว ๓๐ x ๔๐ ซ.ม., กระชอน, น้ำสะอาด ๒ ลิตร, เกลือป่น ๑ ช้อนชา

เด็ดขั้วที่เปลือกออกให้หมด แล้วใส่ครกตำทีละอย่ามากเพราะจะตำยาก ตำพอแหลกอย่าให้ถึงกับเหลว ตำหมดแล้วเติมน้ำทั้งหมดลงไปแล้วแช่ทิ้งไว้ราว ๒ ชั่วโมง จึงขยำกากเปลือกมังคุดเพื่อให้สีออกมามากที่สุด ครบสองชั่วโมง (หรือนานกว่านี้ก็ยิ่งดี) ขยำๆ อีกครั้งหนึ่งแล้วบีบแยกกากออกจากน้ำให้มากเท่าที่จะทำได้ (เหมือนคั้นกะทิ) แล้วไปกรองแยกกากออกให้หมด หรือจะไม่กรองก็ได้ จะได้สีที่สกัดออกมาเป็นชมพูอมส้มสวยงามมาก ใส่เกลือป่นที่เตรียมไว้ทั้งหมดคนให้เกลือละลาย แล้วจึงนำผ้าฝ้ายสีขาวที่เตรียมไว้จุ่มลงไปในน้ำสี คลี่ผ้าออกเพื่อให้สีติดเนื้อผ้าอย่างทั่วถึงและขยำผ้าเบาๆ แช่ผ้าทิ้งไว้ ๑ – ๒ ชั่วโมง เพื่อให้สีติดมากขึ้น แล้วจึงนำผ้าขึ้นมาบิดน้ำออก นำไปตากโดยไม่ต้องล้างน้ำ

การย้อมสีสบง จีวร

ผ้าที่ย้อมสีเสร็จแล้วจะได้สีเหลืองนวลๆหากต้องการสีที่เข้มกว่านี้ต้องย้อมซ้ำ หรือใช้ปริมาณเปลือกมังคุดที่มากขึ้น "การย้อมควรนำผ้าลงย้อมในน้ำสีจากเปลือกมังคุดโดยไม่ต้องกรองเอากากออกก่อนก็ได้และต้องขยำผ้าให้ทั่วและนานๆ เพื่อให้สีติดอย่างทั่วถึงแล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้งก่อนจะนำกลับไปย้อมซ้ำและสามารถเพิ่มปริมาณเปลือกมังคุดลงไปในน้ำเดิมได้เพื่อให้สีเข้มขึ้น ส่วนกากที่ติดมากับผ้า เมื่อผ้าแห้งแล้วก็สะบัดผ้าหรือเอามือลูบๆออกก็ได้" การย้อมผ้าจีวรของพระนั้นต้องย้อมถึง ๑๕ – ๑๖ ครั้ง จึงจะได้ความเข้มของสีตามต้องการ

การย้อมผ้าจีวรแบบประหยัดเวลา

วัสดุอุปกรณ์

๑. หม้อน้ำร้อน ๒. สีย้อมผ้า ๓. ผงกันสีตก ๔. ผงซักฟอก
๕. แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ๖. เกลือ ๗. น้ำยาซักผ้าขาว ๘. ผ้าขี้ริ้วเยอะ ๆ

ขั้นตอนในการย้อมผ้าจีวรแบบประหยัดเวลา

ขั้นแรก

ก็จัดการเอาผ้าที่ต้องการย้อมไปซักเสียให้เรียบร้อย แล้วเอาใส่เครื่องซักผ้า

ขั้นสอง

จัดการเอาสีย้อมผ้าใส่น้ำร้อน คนให้ละลายเข้ากัน เอาเกลือผสมน้ำร้อนทิ้งไว้อีกแก้วหนึ่ง ผสมสีแดงครึ่งช้อน เติมสีเหลืองเข้าไปอีกครึ่งช้อน ใส่แก้ว เติมน้ำร้อน

ขั้นสาม

เปิดเครื่องซักผ้าซักไปตามปกติพอน้ำเติมขึ้นมาพอสมควรแล้วก็เทสีที่เตรียมไว้ลงไป

ขั้นสี่

น้ำที่ใช้ย้อมไม่ควรมากเกินไป จักเปลืองสีมาก ให้เติมน้ำเข้าไปปริ่มๆ ผ้าเท่านั้น พิจารณาดูผ้าสีต้องเข้มกว่าสีที่เราต้องการนิดหนึ่ง เดี๋ยวพอล้างน้ำ สีจักอ่อนลงมาพอดี ถ้าสีไม่เข้มพอให้ผสมสีเติมลงไปอีก (ที่ทำนี้ ผ้าจีวร ๓ ผืน กับอังสะ (เสื้อใน) อีก ๒ ตัว สบงอีก ๒ ผืน ใช้สีทั้งหมด ๔ ช้อน ผสมน้ำ ๔ แก้ว ผสมทีละแก้ว ดูสีเนื้อผ้า ดูสีน้ำ จางไปก็เติมลงไปเรื่อยๆ จนแก้วที่ ๔ ได้น้ำย้อมสีคล้ายชาดำเย็นแล้ว ก็หยุด)

ขั้นห้า

เมื่อผสมสีลงไปจนหนำใจแล้วปล่อยให้มันปั่นๆไปประมาณสิบนาที ก็เทน้ำเกลือตามลงไป

ขั้นหก

พยายามเกาะติดกับเครื่องไว้ถ้ามันหยุดซักก็รีเซ็ทโปรแกรมซักต่อไปประมาณครึ่งชั่วโมง หรือถ้าอดทนพอ ก็กวนไปสักชั่วโมงก็ได้

ขั้นเจ็ด

พวกเครื่องซักผ้าที่เป็นระบบอัตโนมัติ คงยุ่งยากหน่อย ต้องพอรู้ขั้นตอนการทำงานของมัน พอกวนไปจนสาแก่ใจแล้ว ก็เดรนน้ำทิ้ง ถ้าเป็นระบบอัตโนมัติ ให้จัดการผสมผงกันสีตก ละลายลงไปในน้ำที่สอง แช่ไว้ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที

ขั้นแปด

จากนั้นเครื่องจักปั่นหมาด เสร็จแล้ว ก็เอาผ้าที่ได้ไปตากแดด

ขั้นเก้า

จัดการเอาผ้าชุบน้ำยาซักผ้าขาว เช็ดรอยกระดำกระด่างที่เกิดจากสีย้อมผ้าบนเครื่องซักผ้า หลังย้อมเสร็จทันที

ขั้นสิบ

จัดการเอาผ้าขี้ริ้วที่เตรียมไว้ใส่เครื่อง ตั้งโปรแกรมซักให้โหดสุด เท่าที่จักโหดได้ จัดการผสมน้ำยาซักผ้าขาว กับผงซักฟอกในปริมาณที่เกินปกติไปสักหน่อย ตัวน้ำยาซักผ้าขาว จักเข้าไปทำความสะอาดเครื่องซักผ้าของท่าน ให้ปราศจากคราบไคลของสีย้อมผ้า และคราบเกลืออันจักทำให้ถังซักเป็นสนิม

ขั้นสิบเอ็ด

ไปเอาผ้าที่ตากแห้งแล้ว มาซักซ้ำอีกที เอาน้ำยากันสีตกออก

ตากหลังจากย้อมแล้ว ชาวบ้านร่วมใจในงานบุญ

redline

ทอฝ้ายเป็นสายบุญ | การปลูกฝ้าย | การเก็บฝ้าย | การทอฝ้าย | การตัดเย็บจีวร | การจุบคราม

 

Joomla templates by a4joomla | Powered by IsanGate.net.